ความรู้สีกันไฟ / สีทนไฟ

สีกันไฟ หรือ สีทนไฟ ตามมาตรฐาน ไอเอสโอ 834 (ISO 834) และ เอเอสที เอ็ม อี 119 (ASTM E 119) ตามกฎกระทรวงฉบับที่ 48 และ 60

ธรรมชาติของไฟ สามารถเกิดได้ทุกที่ เริ่มจากเปลวเพลิงขนาดเล็กเปลี่ยนเป็นเปลวเพลิงขนาดใหญ่ได้ภายในเวลาไม่กี่วินาที เปลวเพลิงขนาดเล็กดับง่าย แต่เปลวเพลิงขนาดใหญ่ดับยาก เราจึงต้องจำกัดขนาดของเปลวเพลิงและการแพร่ขยายของเปลวเพลิง จึงจำเป็นต้องมีสีกันไฟเพื่อจะช่วยยืดระยะเวลาหรือชะลอการแพร่ขยายของเปลวเพลิง ทำให้มีระยะเวลาในการเข้าช่วยเหลือหรือระยะเวลาในการหนีมากขึ้น ช่วยยืดเวลาเพื่อลดการสูญเสียของทรัพย์สินและชีวิต เมื่ออัคคีภัยเกิดขึ้นส่วนใหญ่เกิดกับโครงสร้างอาคาร สำนักงาน โรงงาน คลังสินค้า และที่อยู่อาศัย ซึ่งอาคารเหล่านั้นล้วนแต่มีโครงสร้างเป็นหลัก

โครงสร้างอาคารส่วนใหญ่ แบ่งได้ 3 ประเภท คือ
1. โครงสร้างคอนกรีต
2. โครงสร้างเหล็ก
3. โครงสร้างไม้

ปัจจุบันนิยมสร้างอาคารด้วยโครงสร้างเหล็ก ซึ่งก่อสร้างง่าย รวดเร็ว ส่วนอายุการใช้งาน ต้องดูตามสภาพแวดล้อม และการดูแลรักษา เมื่อเกิดอัคคีภัยแล้ว ทำให้เกิดความเสียหายต่อชีวิต / ทรัพย์สิน ผลเสียคือ เกิดการเสียสภาพใช้งานของอาคาร โอกาสที่จะนำอาคารที่ผ่านการเกิดอัคคีภัยแล้วมาใช้งานต่ออาจเสี่ยงต่อการพังทลาย ต้องทุบทิ้งแล้วสร้างขึ้นมาใหม่ วัสดุทุกชนิดชำรุดเสียหายเมื่อได้รับความร้อนเกิดการเสียกำลัง (Strength) เสียความแข็งแรง (Stiffness) เกิดแรงอัดจากการยึดรั้ง มีการโก่งจากการยึดรั้ง ความโค้งงอของตัวอาคารที่เพิ่มขึ้นจาก Thermal gradient ตลอดความลึก เสียความคงทน (Durability)

ฉะนั้น เมื่อเกิดอัคคีภัยอันเนื่องมาจากความร้อน จะมีความรุนแรงได้หลายระดับ ถ้าการได้รับความเสียหายนั้นทำอันตรายตรงจุดการวิบัติที่รุนแรง และตรงประเภทของวัสดุก่อสร้าง เช่น

โครงสร้างที่เป็นเหล็กมีอุณหภูมิวิกฤติ จากความร้อนเท่ากับ 550 องศาเซลเซียส และเกิดการ ผิดรูปไป 60 % อันเนื่องมาจากความร้อน แล้วค่อยๆ อ่อนแล้วพังลงอย่างช้าๆ อุณหภูมิเปลวไฟที่ประมาณ 1,200 องศาฟาเรนไฮต์ หรือ ประมาณ 650 องศาเซลเซียส ก็เพียงพอที่จะทำให้โครงสร้างที่เป็นเหล็กนั้นเสียหายได้

ส่วนโครงสร้างคอนกรีต ซึ่งเป็นโครงสร้างที่นิยมใช้สร้างบ้าน สำนักงาน ตึกสำนักงาน ต่างๆ คอนกรีตเมื่อได้รับความร้อนมากกว่า 300 องศาเซลเซียสขึ้นไป + ระยะเวลา ก็จะทำให้คุณสมบัติของคอนกรีตเปลี่ยนแปลงไป เช่น เกิดการเสื่อมสภาพของ Hydratedparts (เนื้อคอนกรีตเสียสภาพการยึดเกาะและอ่อนแอ) เกิดการเสื่อมสภาพของมวลรวม เกิดความเค้นเป็นจุด เกิดการแตกร้าวขนาดเล็ก แต่ความเสียหายที่เกิดกับโครงสร้างอาคารที่เป็นคอนกรีต จะเกิดความเสียหาย หรือพังทลาย อย่างทันทีทันใดเป็นต้น

เมื่อนักดับเพลิงทำการเข้าดับเพลิงต้องพิจารณา จุดต้นเพลิง รูปแบบอาคาร ประเภทอาคาร ระยะเวลาของการลุกไหม้ ประกอบการพิจารณาตัดสินใจ โดยต้องพึ่งระลึกถึงความรุนแรงตามกลไกการวิบัติ อาคารที่สร้างขึ้นมาต้องผ่านกฎหมายควบคุมอาคาร เพื่อควบคุมประเภท ลักษณะ วัตถุประสงค์การใช้งาน ให้ถูกต้องตามกฎหมาย จุดประสงค์ของกฎหมายควบคุมอาคารและเขตพื้นที่ควบคุมใช้บังคับเฉพาะพื้นที่ที่มีความเจริญและมีการก่อสร้างอาคารแน่นหนา ซึ่งในท้องที่ใดจะประกาศให้เป็นเขตควบคุมอาคารจะต้องตราเป็นพระราชกฤษฎีกา ซึ่งกฎหมายควบคุมอาคารจะดูแลในเรื่องความมั่นคงแข็งแรง ความปลอดภัยและการป้องกันอัคคีภัยของอาคารโดยเฉพาะอาคารสูง อาคารขนาดใหญ่ และอาคารสาธารณะมาตรฐานกำหนดไว้ดังนี้

  • อาคารชั้นเดียว อัตราการทนไฟไม่น้อยกว่า 1 ชม.
  • อาคารหลายชั้น อัตราการทนไฟไม่น้อยกว่า 1 ½ ชม.
  • อาคารขนาดใหญ่ อัตราการทนไฟไม่น้อยกว่า 2 ชม.
  • อาคารสูง อัตราการทนไฟไม่น้อยกว่า 2 ชม. (above gr.) และ 4 ชม. (under gr.)

          ส่วนโครงสร้างที่เป็นส่วนประกอบของโครงสร้างหลักของอาคาร ก็ได้กำหนอัตราการทนไฟไว้เช่นเดียวกัน ถ้าแบ่งอัตราการทนไฟ แต่ละชิ้นส่วนอาคาร กฎหมายกำหนดไว้ ดังนี้

อัตราการทนไฟของชิ้นส่วนอาคาร

  • เสาที่มีความสำคัญต่ออาคาร 4ชม.
  • พื้น 2-3 ชม.
  • ระบบโครงข้อแข็ง (รวมถึงเสา / กำแพงภายใน) 3-4 ชม.
  • โครงสร้างหลัก Shaft 2 ชม.
  • หลังคา 1-2 ชม.

จะเห็นได้ว่า อัคคีภัย เมื่อเกิดกับอาคารแล้ว ระยะเวลาของการลุกไหม้ มีส่วนสำคัญอย่างมาก ต่อโครงสร้างอาคาร จะเห็นได้จาก เมื่อนักดับเพลิง จะเข้าทำการดับเพลิงภายในอาคาร จะมีการคำนวณระยะเวลา อย่างคร่าว ๆ ตาม Fire man rule คือ โครงสร้างเหล็กที่สำคัญต่อโครงสร้างอาคาร หนาน้อยสุดกี่มิลลิเมตร คูณ กับ 0.8 เท่ากับ เวลาที่เกิดการวิบัติ ตามสูตรนี้ 0.8*ความหนา (mm) = นาที

** ถึงอย่างไรก็ตาม การประเมินรูปแบบโครงสร้างอาคาร ระยะเวลา และปัจจัยอื่น ๆเพื่อให้การปฏิบัติการดับเพลิงนั้น ปลอดภัย ก็ต้องพิจารณาถึงน้ำหนักของอาคารที่เพิ่มขึ้นจากน้ำที่ได้จากการดับเพลิง ด้วย ซึ่งยิ่งส่งผลให้โครงสร้างอาคารนั้นพังทลายเร็วขึ้น **

ระบบการป้องกันและระงับอัคคีภัยในอาคารทั่วไป
อาคารทั่วไปรวมทั้งอาคารที่ใช้เพื่อการชุมนุมคน เช่น หอประชุม โรงแรม โรงพยาบาล สถานศึกษา ห้างสรรพสินค้า ห้องแถว ตึกแถว บ้าแฝด อาคารที่อยู่อาศัยรวมหรืออพาร์ตเมนต์ที่มากกว่า 4 ยูนิตขึ้นไป ก็ต้องคำนึงถึงความปลอดภัยจากอัคคีภัยเช่นเดียวกันสิ่งจำเป็นต้องรู้และเข้าใจเกี่ยวกับระบบการป้องกันและระงับอัคคีภัยในอาคารทั่วไป คือ
1. ระบบสัญญาณเตือนเพลิงไหม้ควรติดตั้งใน
– ห้องแถวหรือตึกแถวที่สูงไม่เกิน 2 ชั้น ต้องติดตั้ง 1 เครื่องต่อ 1 ยูนิต แต่ถ้า สูงตั้งแต่ 3 ชั้นขึ้นไป ต้องติดตั้งทุกชั้นในแต่ละยูนิต
– อาคารสาธารณะที่มีพื้นที่มากกว่า 2,000 ตารางเมตร ต้องติดตั้งในทุกชั้น ของอาคาร
2. ส่วนประกอบของระบบสัญญาณเตือนเพลิงไหม้
ระบบสัญญาณเตือนเพลิงไหม้ประกอบด้วยอุปกรณ์ 2 ตัว คือ Detector ซึ่งมี ทั้งแบบระบบแจ้งเหตุอัตโนมัติและระบบแจ้งเหตุที่ใช้มือ เพื่อให้กริ่งสัญญาณเตือนเพลิงไหม้ทำงาน ส่วนอุปกรณ์อีกตัวหนึ่งคือ เครื่องส่งสัญญาณเตือนเพลิงไหม้ที่สามารถส่งเสียงหรือสัญญาณให้คนที่อยู่ในอาคารได้ยินเมื่อเกิดไฟไหม้
3. การติดตั้งถังดับเพลิงแบบมือถือ
ห้องแถวหรือตึกแถวที่สูงไม่เกิน 2 ชั้น ต้องติดตั้ง 1 เครื่องต่อ 1 ยูนิต ส่วน อาคารสาธารณะอื่นๆ ต้องติดตั้งอย่างน้อย 1 เครื่องทุกๆ 1,000 ตารางเมตร ซึ่งแต่ละเครื่องต้องติดตั้งห่างกันอย่างน้อย 45 เมตร และต้องอยู่ในตำแหน่งที่มองเห็นง่ายสะดวกต่อการดูแลรักษา
4. ป้ายบอกชั้นและทางหนีไฟ
ป้ายบอกตำแหน่งชั้นและทางหนีไฟพร้อมไฟฉุกเฉิน ต้องติดตั้งทุกชั้นของอาคารโดยเฉพาะอาคารสาธารณะที่มีความสูงตั้งแต่ 2 ชั้นขึ้นไป อาคารอยู่อาศัยรวมที่มีความสูงตั้งแต่ 2 ชั้นขึ้นไปและอาคารอื่นๆที่มีพื้นที่มากกว่า 2,000 ตารางเมตร
5. ระบบจ่ายพลังงานไฟฟ้าสำรอง
อาคารสาธารณะที่มีคนอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีระบบไฟฟ้าสำรอง เช่น แบตเตอรี่ หรือเครื่องกำเนิดไฟฟ้าไว้สำหรับกรณีฉุกเฉินที่ระบบไฟฟ้าปกติขัดข้องและต้องสามารถจ่ายไฟในกรณีฉุกเฉินได้ไม่น้อยกว่า 2ชั่วโมง โดยเฉพาะจุดที่มีเครื่องหมายทางออกฉุกเฉิน บันไดหนีไฟ ทางเดินและระบบสัญญาณเตือนเพลิงไหม้

วิธีปฏิบัติตัวเพื่อความปลอดภัยเมื่อเกิดเพลิงไหม้ 10 ขั้นตอน
ควันไฟจากเหตุการณ์เพลิงไหม้สามารถคร่าชีวิตคุณได้ ภายในเวลา 1 วินาทีเนื่องจากควันไฟสามารถลอยสูงขึ้นไปได้ถึง 3 เมตร และภายใน 1 นาที ควันไฟสามารถลอยขึ้นไปได้สูงเท่ากับตึก 60 ชั้น ดังนั้น ทันทีที่เกิดเพลิงไหม้ควันไฟจะปกคลุมอยู่รอบๆตัวคุณอย่างรวดเร็ว ทำให้คุณสำลักควันไฟตายก่อนที่เปลวเพลิงจะคืบคลานมาถึงตัว เราจึงควรเรียนรู้วิธีการปฏิบัติตัวเมื่อเกิดเพลิงไหม้ 10 ขั้นตอน เพื่อความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของตัวคุณเองความปลอดภัยในอาคารนั้นต้องเริ่มศึกษากันตั้งแต่ก้าวแรกที่เดินทางเข้าไปในอาคาร โดยเริ่มจาก

ขั้นตอนที่ 1 ก่อนเข้าพักในอาคารควรศึกษาตำแหน่งบันไดหนีไฟ เส้นทางหนีไฟ ทางออกจากตัวอาคาร การติดตั้งอุปกรณ์ระบบ Sprinkle และอุปกรณ์อื่นๆ รวมทั้งต้องอ่านคำแนะนำเกี่ยวกับความปลอดภัยจากเพลิงไหม้ และการหนีไฟอย่างละเอียด
ขั้นตอนที่ 2 ขณะที่อยู่ในอาคารควรหาทางออกฉุกเฉินสองทางที่ใกล้ห้องพักตรวจสอบดูว่าทางออกฉุกเฉินไม่ปิดล็อคตาย หรือมีสิ่งกีดขวางและสามารถใช้เป็นเส้นทางออกจากภายในอาคารได้อย่างปลอดภัย ให้นับจำนวนประตูห้องโดยเริ่มจากห้องท่านสู่ทางหนีฉุกเฉินทั้งสองทาง เพื่อไปถึงทางหนีฉุกเฉินได้ ถึงแม้ว่าไฟจะดับหรือปกคลุมไปด้วยควัน
ขั้นตอนที่ 3 ก่อนเข้านอนวางกุญแจห้องพักและไฟฉายไว้ใกล้กับเตียงนอนหากเกิดเพลิงไหม้จะได้นำกุญแจห้องและไฟฉายไปด้วย อย่ามัวเสียเวลากับการเก็บสิ่งของ และควรเรียนรู้และฝึกเดินภายในห้องพักในความมืด
ขั้นตอนที่ 4 เมื่อต้องประสบเหตุเพลิงไหม้หาตำแหน่งสัญญาณเตือนเพลิงไหม้ เปิดสัญญาณเตือนเพลิงไหม้ จากนั้นหนีจากอาคารแล้วโทรศัพท์เรียกหน่วยดับเพลิงทันที
ขั้นตอนที่ 5 เมื่อได้ยินสัญญาณเตือนเพลิงไหม้ให้รีบหาทางหนีออกจากอาคารทันที
ขั้นตอนที่ 6 ถ้าเพลิงไหม้ในห้องพักให้หนีออกมาแล้วปิดประตูห้องทันที รีบแจ้งเจ้าหน้าที่ดูแลอาคาร เพื่อโทรศัพท์แจ้งหน่วยดับเพลิง
ขั้นตอนที่ 7 ถ้าเพลิงไหม้เกิดขึ้นนอกห้องพักก่อนจะหนีออกมาให้วางมือบนประตู หากประตูมีความเย็นอยู่ค่อยๆเปิดประตูแล้วหนีไปยังทางหนีไฟฉุกเฉินที่ใกล้ที่สุด
ขั้นตอนที่ 8 ถ้าเพลิงไหม้อยู่บริเวณใกล้ๆประตูจะมีความร้อน ห้ามเปิดประตูเด็ดขาด ให้รีบโทรศัพท์เรียกหน่วยดับเพลิง และแจ้งให้ทราบว่าท่านอยู่ที่ใดของเพลิงไหม้ หาผ้าเช็ดตัวเปียกๆปิดทางเข้าของควัน ปิดพัดลม และเครื่องปรับอากาศส่งสัญญาณขอความช่วยเหลือที่หน้าต่าง
ขั้นตอนที่ 9 เมื่อต้องเผชิญกับควันไฟที่ปกคลุมให้ใช้วิธีคลานหนีไปทางฉุกเฉินเพราะอากาศบริสุทธิ์จะอยู่ด้านล่าง (เหนือพื้นห้อง) นำกุญแจห้องไปด้วยหากหมดหนทางหนีจะได้สามารถกลับเข้าห้องได้
ขั้นตอนที่ 10 การหนีออกจากตัวอาคาร อย่าใช้ลิฟท์ขณะเกิดเพลิงไหม้และไม่ควรใช้บันไดภายในอาคารหรือบันไดเลื่อน เนื่องจากบันไดเหล่านี้ไม่สามารถป้องกันควันไฟและเปลวไฟได้ ให้ใช้บันไดหนีไฟภายในอาคารเท่านั้นเพราะเราไม่มีวันรู้ว่าเหตุการณ์เลวร้ายจะเกิดขึ้นกับชีวิตเมื่อไร เราจึงไม่ควรประมาทกับชีวิตเลยสักวินาทีเดียว

* อ้างอิงจาก ศูนย์วิจัยและพัฒนาการป้องกันการเกิดภัยพิบัติ